วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

รูปแบบความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างระหว่างคุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษากับ

บทนำ
ในการบริหารจัดการสถานศึกษาหรือองค์การทางการศึกษานั้น ปัจจัยที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่ถือเป็นหลักใหญ่คือ ผู้บริหารการศึกษาที่มีคุณธรรมจริยธรรม พฤติกรรมด้านจริยธรรมในการบริหารจัดการ คือพฤติกรรมที่ไม่ใช่เพียงแต่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้นแต่ยังต้องเป็นพฤติกรรมที่ถูกต้องภายในกรอบของคุณธรรมและจริยธรรมที่บุคคลในสังคมโดยทั่วไปยอมรับได้ นอกจากนี้คุณธรรมจริยธรรมนั้นยังเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะสร้างศรัทธา อันเป็นแรงจูงใจให้เกิดความรัก ความสามัคคีร่วมมือกันปฏิบัติงานเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้ทำให้ผู้ร่วมงานทุกคนในองค์การเกิดความเชื่อถือและเชื่อมั่นในตัวผู้นำ (สุภัททา ปิณฑะแพทย์ 2008:14) ทำให้เกิด ความรู้สึกผูกพันธ์ ความพึงพอใจ ความสัมพันธ์ที่ดี สั่งสมเป็นชื่อเสียง ของสถาบันการศึกษา ทำให้ ผู้รับบริการ ชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน ปกป้อง บอกต่อ กลายเป็นความภักดีต่อสถานบันการศึกษานั้น ๆ ในที่สุด

ปัญหา
ปัจจุบันการพัฒนาโรงเรียนทั่วไปยังขาดการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน ทำให้ชุมชนไม่ให้ความสนใจ และขาดการช่วยเหลือสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ขาดความผูกพัน ขาดความพึงพอใจ และ โรงเรียนขาดการบริหารด้วยหลักธรรมาภิบาล การศึกษา จะต้องให้นักเรียนรู้จักตนเอง ครอบครัว และสังคมไทย สังคมโลก รู้ประชาธิปไตย รู้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมถึงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การกีฬา ภูมิปัญญาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ การประกอบอาชีพ และการดำรงตนอย่างเหมาะสม ผสมผสานความรู้คู่กับการมีคุณธรรม สามารถใช้กระบวนการวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ และการตระหนักในการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างจริงจัง
การจัดการศึกษาของกรุงเทพมหานครก็เช่นกันพบว่า ยังไม่ได้จัดตามสภาพแวดล้อม ชุมชนมีความหลากหลายในแต่ละโรงเรียน ไม่จำเป็นต้องจัดการเรียนการสอนเหมือนกัน ผู้ปกครอง ชุมชน ผุ้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ยังเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษาน้อย ตลอดจนขาดการดูแลเอาใจใส่คุณธรรม จริยธรรม ความประพฤติของ ผู้บริหารสถานศึกษา และครู ทำให้การจัดการศึกษาไม่สดอคล้องกับความต้องการของชุมชน ชุมชนไม่สนใจให้ความช่วยเหลือ ขาดความรู้สึกผูกพันต่อสถานศึกษา ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของความภักดีของผู้รับบริการที่มีต่อองค์การ
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้ กำหนดวัตถุประสงค์ดังนี้
1. เพื่อทราบองค์ประกอบคุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดกรุงเทพมหานคร
2. เพื่อทราบความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริการ
3. เพื่อทราบรูปแบบความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างระหว่างคุณธรรมของผู้บริหารสถาน ศึกษากับความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริการ
กรอบแนวคิดของการวิจัย
กรอบแนวคิดที่ใช้ในการวิจัย ใช้แนวคิดการบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management: CRM.) แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมของผู้บริหาร และความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริการ ประกอบกับการสังเคราะห์ การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ เฉพาะด้าน นำมากำหนดเป็นกรอบในการวิจัยดังนี้
1. คุณธรรมของผู้บริหาร ผู้วิจัยได้รวบรวมทฤษฎี จากเอกสาร ตำรา งานวิจัย และสังเคราะห์การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จำนวน 15 คน ประกอบกับแนวทาง ของนงลักษ์ วิวิรัชชัย และคณะ (2551: ง) สำนักงานข้าราชการพลเรือน ศูนย์ส่งเสริมจริยธรรม (2545:13-23) เลนนิค และ คีล (Lennic D. & Kiel F.Z. 2005:24-25), และ วีลาสเควส (Velasquez 2002:129-131) นำมาสร้างเป็นข้อคำถามในแบบสอบถามในแบบสอบถาม
2. ด้านความภักดีต่อองค์การ(organization loyalty) ผู้วิจัยใช้ทฤษฎีและแนวคิดด้านการตลาดเกี่ยวกับ การบริหารลูกค้าสัมพันธ์ของธุรกิจ กับการศึกษามาประยุกต์ร่วมกัน ประกอบกับการสังเคราะห์จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยใช้ร่วมกับแนวคิดของ ลิชเชลด์ (Reichheld, 2001:187) คอทเลอร์ และ อาร์สตรอง(Kotler and Armstrong: 2001: 388) จอนสัน และ กัสทร๊าฟสัน(Johnson & Gustafsson 2001:116-117) ได้องค์ประกอบความภักดี 4 ด้าน คือ 1) ด้านความสัมพันธ์ (relationship) 2) ด้านความมีชื่อเสียง (reputation) 3) ด้านความพึงพอใจ (satisfaction) และ 4) ด้านความรู้สึก (feeling) โดยนำมาสร้างเป็นข้อคำถามใบแบบสอบถาม

คำนิยามศัพท์เฉพาะ
คุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษา(Moral of school administrators) หมายถึง การประพฤติปฏิบัติของผู้บริหารสถานศึกษาที่เป็นความดีงาม และถูกต้องตามกรอบมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับของสังคมสากลทั่วไป
ความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริการ (Organization loyalty of clients) หมายถึง ความรู้สึก (felling) ผูกพันธ์ต่อองค์การของผู้รับบริการ อันได้แก่ ผู้ปกครอง พ่อแม่ ชุมชน ซึ่งเป็นความพึงพอใจ (satisfaction) ในคุณภาพของการศึกษา สถานศึกษา การให้บริการต่าง ๆ และการสร้างความสัมพันธ์ (relationship) ที่ดีต่อผู้รับบริการ สะสมเป็นชื่อเสียง (reputation) เกิดเป็นความภักดีที่เกิดขึ้นต่อองค์การ อันได้แก่สถานศึกษา

การดำเนินการวิจัย
การดำเนินการวิจัยครั้งนี้ ประชากร คือโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครที่เปิดสอนในปี 2550 จำนวนทั้งสิ้น 435 โรงเรียน เลือกกลุ่มตัวอย่างโดยวิธี การเลือกตัวอย่างแบบกลุ่ม(cluster sampling) ได้จำนวน 90 โรงเรียน ผู้ให้ข้อมูลคือ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ช่วยผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอนในสถานศึกษา 2 คน กรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครอง รวมทั้งสิ้น 540 คน จำนวน 90 โรงเรียน รวม ใช้แบบสอบถามทั้งสิ้น 540 ฉบับ การวิเคราะห์ข้อมูล ฉบับแรกได้จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ใช้ตารางบันทึกรวบรวมองค์ประกอบย่อย สร้างเป็นข้อคำถามในแบบสอบถามในฉบับที่สอง การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน ใช้โปรแกรมสำเร็จรูป วิเคราะห์เชิงบรรยาย โดยใช้สถิติ ค่า ร้อยละ(percentage) ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(S.D.) ไค-แสคว์(Chi-square) การวิเคราะห์องค์ประกอบคุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษาใช้การวิเคราะห์เชิงสำรวจ(exploration factor analysis) สำหรับการวิเคราะห์ความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริการใช้การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน(confirmatory factor analysis) การวิเคราะห์เส้นทาง การตรวจสอบความสอดคล้องระหว่างรูปแบบตามทฤษฎีกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ใช้โปรแกรมสำเร็จรูปลิสเรล(LISREL) และการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญแบบมีโครงสร้าง วิเคราะห์เนื้อหา วิเคราะห์ด้วยสถิติค่าร้อยละ (%) ประกอบตารางบรรยายสรุปผล

การวิจัยพบว่า
องค์ประกอบคุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษา มีจำนวน 14 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) ความรับผิดชอบ 2) ความมีวินัย 3) ความยุติธรรม 4) ความซื่อสัตย์สุจริต 5) ความมีสติสัมปชัญญะ 6) การคำนึงผลประโยชน์ส่วนรวมสูงสุด 7) ความประหยัด 8) การมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน 9) การมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ 10) การไม่เลือกปฏิบัติ 11) ความอดกลั้น 12) ความเป็นผู้มีจิตสาธารณะ 13) ความขยันหมั่นเพียร 14) ฉันทะ ความพอใจ
และยังพบว่า พฤติกรรมคุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษาที่มีวินัยเป็นกรอบควบคุมและมีองค์ประกอบคุณธรรมสนับสนุนได้แก่ ฉันทะความพอใจ ความขยันหมั่นเพียร ความเป็นผู้มีจิตสาธารณะ ความรับผิดชอบ และความซื่อสัตย์สุจริต
องค์ประกอบด้านความรับผิดชอบของผู้บริหารสถานศึกษา มีความสัมพันธ์ต่อผู้รับบริการ
ความขยันหมั่นเพียรของผู้บริหารสถานศึกษาอย่างสม่ำเสมอ เป็นองค์ประกอบที่สนับสนุนความวินัยของผู้บริหารสถานศึกษา ฉันทะความพอใจของผู้บริหารสถานศึกษาที่ส่งผลต่อวินัย สร้างความรู้สึกผูกพันธ์กับผู้รับบริการ และสร้างความพึงพอใจต่อผู้รับบริการ ในที่สุดผู้รับบริการเกิดความภักดีต่อองค์การความเป็นผู้มีจิตสาธารณะของผู้บริหารสถานศึกษา เป็นองค์ประกอบที่สนับสนุนให้ผู้บริหารสถานศึกษามีวินัย ความยุติธรรมของผู้บริหารสถานศึกษาทำให้ผู้รับบริการมีความรู้สึกที่ดี และสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เป็นส่วนทำให้ผู้รับบริการเกิดความภักดีองค์การ
การมุ่งผลสำฤทิ์ของงานของผู้บริหารสถานศึกษา สร้างชื่อเสียงให้สถานศึกษา และทำให้ผู้รับบริการเกิดความภักดีต่อสถานศึกษา
ผู้บริหารสถานศึกษาที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์สูง สร้างความรู้สึกที่ดีต่อผู้รับบริการ และสร้างความพึงพอใจต่อผู้รับบริการ ทำให้ผู้รับบริการเกิดความภักดีต่อองค์การ
ผู้บริหารสถานศึกษาที่ความซื่อสัตย์สุจริต จะทำให้ผู้รับบริการเกิดความพึงพอใจ และเกิดความสัมพันธ์ที่ดี เกิดความรู้สึกที่ดี ผู้รับบริการเกิดความภักดีต่อองค์การ
การคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมสูงสุดของผู้บริหารสถานศึกษา ทำให้ผู้รับบริการเกิดความพึงพอใจ มีความรู้สึกที่ดี มีความสัมพันธ์ที่ดี สร้างชื่อเสียงขององค์การ ผู้รับบริการเกิดความภักดีต่อสถานศึกษา

องค์ประกอบความภักดีต่อสถานศึกษาของผู้รับบริการ มี 4 ด้านได้แก่ 1) ความมีชื่อเสียง 2) ความสัมพันธ์ 3) ความรู้สึก และ 4) ความพึงพอใจ และยังส่งผลในด้านต่าง ๆ ระหว่างกันคือ ด้านความรู้สึก ส่งผลต่อด้านความสัมพันธ์และด้านชื่อเสียง, ด้านชื่อเสียงส่งผลต่อด้านความสัมพันธ์และด้านความพึงพอใจ, และด้านความพึงพอใจ ส่งผลต่อด้านความสัมพันธ์และด้านความรู้สึก
องค์ประกอบคุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษาที่ไม่ส่งผลต่อกันเอง และไม่ส่งผลต่อองค์ประกอบความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริการ คือ องค์ประกอบ ความอดกลั้น ความมีวินัย ความมีสติสัมปชัญญะ การไม่เลือกปฏิบัติ และความประหยัด
องค์ประกอบความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริการ มีองค์ประกอบที่ไม่ส่งผลต่อองค์ประกอบใด ๆ เลย คือ องค์ประกอบด้านความสัมพันธ์
รูปแบบที่พัฒนาสร้างขึ้นมีความสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ มีองค์ประกอบคุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษารวมทั้งสิ้น 14 องค์ประกอบ องค์ประกอบคุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษาที่ทำให้เกิดความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริการ มีเพียง 7 องค์ประกอบ คือ ความรับผิดชอบ ความยุติธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต การคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมสูงสุด การมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน การมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ และฉันทะความพอใจ
องค์ประกอบที่ไม่ส่งผลต่อความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริการมี 7 องค์ประกอบ ได้แก่ ความประหยัด ความมีสติสัมปชัญญะ การไม่เลือกปฏิบัติ ความอดกลั้น ความขยันหมั่นเพียร ความมีวินัย และความเป็นผู้มีจิตสาธารณะ
ผลจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทั้ง 6 คนพบว่า
ความเหมาะสม ความเป็นไปได้ ความถูกต้อง การนำไปใช้ประโยชน์ ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 6 ท่าน มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ทั้งองค์ประกอบคุณธรรม และองค์ประกอบความภักดี มี ความเหมาะสม ความเป็นไปได้ ความถูกต้อง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ในระดับมาก ความมีวินัย ความยุติธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตของผู้บริหารมีความสำคัญมากที่สุด และยังให้ความเห็น คุณลักษณะของคนดี หมายถึงลักษณะทางจิตใจและพฤติกรรมของบุคคลที่คิด พูด และกระทำตรงกันในทางสร้างสรรค์เป็นประโยชน์กับตนและสังคม ซึ่งเมื่อผู้บริหารสถานศึกษา มีวินัยในด้านต่างๆ ได้แก่ ความสนใจใฝ่รู้ การควบคุมตนเอง ความเอื้ออาทร ความรับผิดชอบ ความมีเหตุผล ความซื่อสัตย์ ความขยัน และตั้งเป้าหมายเพื่ออนาคตกจะสามารถสร้างความพึงพอใจ สร้างความสัมพันธ์ที่ดี สร้างความรู้สึกที่ดี สร้างชื่อเสียงให้องค์การ ส่วนด้านองค์ประกอบความภักดี ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นสอดคล้องกันในระดับมาก และเพิ่มเติม ด้านการสร้างความรู้สึกที่ดีต่อผู้รับบริการ เน้นให้ความสำคัญที่ผู้บริหารและการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อชุมชน เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริการ หรือชุมชน ก่อให้เกิดความพึงพอใจ และที่สุดชื่อเสียงจะตกอยู่กับสถานศึกษา เป็นการสร้างความภักดีให้กับองค์การ
ความเหมาะสมในด้านต่าง ๆ ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นสอดคล้องในทิศทางเดียวกันว่า มีความเหมาะสม ส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นคุณธรรมที่มาจากมาตรฐานทั่วไปที่พึงปฏิบัติ เป็นคุณธรรมที่พึงประสงค์ เป็นคุณธรรมที่สังคมไทยควรมีและดำรงค์ไว้เพื่อให้เป็นแกนหลักในการยึดเหนี่ยวร่วมกัน และยังแนะนำเพิ่มเติมว่า คุณธรรมของผู้บริหารในเชิงพุทธศาสนา เป็นแนวทางที่ควรปฏิบัติ เนื่องจาก ประชาชนชาวไทยนับถือพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ การนำเอาคุณธรรมทางพุทธศาสนามาใช้ เป็นแนวทางที่สามารถทำได้ง่าย และยังเสนอแนะต่อถึงคุณธรรมตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นแนวทางที่ควรน้อมนำมาปฏิบัติด้วยกันทุกคน ทุกองค์การ
ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในรูปแบบความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างระหว่างคุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษากับความภักดีของผู้รับบริการต่อองค์การ ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นสอดคล้องตรงกันว่ามีความเหมาะสมมาก เนื่องจากปัจจุบัน การแข่งขันในสถาบันการศึกษาไม่ว่าของรัฐหรือเอกชนต้องอาศัยความมุ่งมั่น ความตั้งใจ การมีวินัยที่จะสร้างวิสัยทัศน์ เพื่อกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของสถานศึกษา ยังแนะนำว่า การสร้างวิสัยทัศน์ ค่านิยม การนำเสนอคุณค่าขององค์การ ซึ่งเป็นพันธกิจหลักขององค์การ แผนเชิงกลยุทธเป็นคนละเรื่องกับกระบวนการที่ทำให้ทุกคนในองค์กร เข้าใจตรงกัน แต่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ทั้งสองเรื่องเป็นงานสำคัญ ภาระกิจของผู้นำในเรื่องการทำตนเป็นแบบอย่างที่เด่นชัดยิ่ง คือผู้นำต้องมีบทบาทในการกำหนดทิศทาง มิฉะนั้นคนในองค์การก็จะเข้าใจไม่ตรงกัน ไม่มีความสอดคล้องกันในเรื่องยุทธศาสตร์ ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะไม่เป็นไปตามแผนการ และสิ่งที่เป็นหลักที่ผู้นำจะต้องนำเป็นแบบอย่างในสร้างวิสัยทัศน์ คือค่านิยม ซึ่งเป็นคุณธรรมประจำใจ การสร้างค่านิยมใหม่สำหรับข้าราชการไทย โดยมีวัฒนธรรมในการทำงานใหม่ เน้นความสามารถและผลงาน เน้นความสุจริต ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ มีความกล้าทำในในสิ่งที่ถูกต้อง มีวินัยในตนเอง คือหนทางนำไปสู่ความสำเร็จ เป็นความรู้สึกทางอารมณ์ หรือ สภาวะทางอารมณ์ของผู้รับบริการ ชุมชน คนในองค์กรจะมอบให้ เป็นความสำเร็จที่เรียกว่าความภักดีต่อองค์การ

ข้อเสนอแนะด้านนโยบาย
จากกระแสของการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ส่งผลกระทบโดยตรงกับระบบชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมของทุกประเทศในโลก ประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก และอยู่ท่ามกลางกระแสของการเปลี่ยน การศึกษาจึงเข้ามามีบทบาทในการวางรากฐานให้เยาวชนเป็นผลเมืองที่มีภูมิคุ้มกันทางสังคมที่ดี และมั่นคงพร้อมไปกับการเปลี่ยนแปลงคู่ไปกับผู้ที่มีคุณธรรม ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้นำที่เป็นแบบอย่างของครูผู้สอน นักเรียน สังคม ชุมชน ดังนั้นการนำเอารูปแบบคุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อสร้างความภักดีของผู้รับบริการ จึงควรถูกกำหนดเป็นนโยบายเป็นวาระของชาติ เพื่อให้เป็นแผนแม่บท นำมากำหนดยุทธศาสตร์ แผนกลยุทธ กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในสถานศึกษาร่วมกับชุมชน โดยทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ดังนั้นผู้บริหารสถานศึกษาเอง สามารถนำมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างเสริมองค์การ ด้วยการกำหนดและสร้างกิจกรรมต่าง ๆ ให้สอดรับกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดความรู้สึก ความพึงพอใจที่ดี เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในองค์การ ชุมชน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ใช้ทรัพยากรน้อย แต่เน้นเรื่องการปลูกจิตสำนึกของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นสำคัญ ผลที่ตามมาทำให้เกิดความภักดีต่อองค์การ

ข้อเสนอแนะด้านการนำไปปฏิบัติ
1. ในการวิจัยครั้งนี้ ประชากรเป็นสถานศึกษาในสังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งการนำผลการวิจัยไปใช้ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับกลุ่มตัวอย่าง เพราะหากกลุ่มตัวอย่างมีความแตก ต่างกับกลุ่มประชากรในครั้งนี้ จะทำให้การอ้างอิงขาดความแม่นยำ
2. จากผลการวิจัยในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า ความมีวินัยของผู้บริหารสถานศึกษา เป็นกรอบในการนำไปปฏิบัติจริง ควรกำหนดกิจกรรมต่าง ๆ ให้สอดคล้องโดยมีองค์ประกอบหลักในด้านคุณธรรม อันได้แก่ ฉันทะความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ความขยันหมั่นเพียร ความชอบธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต เพราะความมีวินัย ทำให้ผู้รับริการเกิดความภักดีต่อองค์ คือสถานศึกษา ผู้รับบริการอันประกอบด้วย นักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน ซึ่งจะกลับมาสนับสนุน ช่วยเหลือทั้งทางตรงและทางอ้อม
3. ผู้บริหาร ครูผู้สอน และบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ควรศึกษาหาความรู้ในด้านต่าง ๆ จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมด้านคุณธรรม จริยธรรมในองค์กร และร่วมกับชุมชน รวมทั้งมีการจัดสัมนา และอบรม ความรู้เรื่องการตลาดแบบองค์รวม เพื่อพัฒนาตนเองให้เป็นส่วนหนึ่งขององค์การในการสร้างความภักดีของผู้รับบริการที่มีต่อองค์กรบนพื้นฐานความรู้คู่คุณธรรมต่อไป

ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป
1. จากการวิจัยครั้งนี้ได้นำเอาคุณธรรมทั่วไปมาใช้ในการวิจัย ควรมีการนำเอาองค์ประกอบคุณธรรมตามแนวทางทศพิศราชธรรม หรือองค์ประกอบคุณธรรมทางพุทธศาสนามาเป็นองค์ประกอบในการทำวิจัยต่อไป
2. การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้มีการปรับแต่งรูปจากสมมติฐาน หลังจากตรวจสอบกับข้อมูลเชิงประจักษ์ จึงควรมีการศึกษาความสัมพันธ์เชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อความภักดีของผู้รับบริการที่มีต่อองค์การในกลุ่มตัวอย่างที่มี ลักษณะคล้ายคลึงกันอีกครั้งเพื่อให้ได้รูปแบบความสัมพันธ์ที่มีความเชื่อมั่นสูงยิ่งขึ้น
3. การวิจัยครั้งนี้ศึกษาเฉพาะสถานศึกษาในสังกัดกรุงเทพมหานคร ควรเปรียบเทียบกับสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น สถานศึกษาในสังกัดเทศบาล เป็นต้น ว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร

บรรณานุกรรม
กรุงเทพมหานคร. สำนักการศึกษา. หน่วยศึกษานิเทศก์. โรงเรียนกทม. SMART SCHOOL: โรงเรียนคุณภาพ มาตรฐานกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์ การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, 2549.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542.
กรุงเทพฯ : เซเว่นพริ้นติ้ง กรุ๊ฟ, 2542.
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน. ศูนย์ส่งเสริมจริยธรรม. ค่านิยมสร้างสรรค์ของ
เจ้าหน้าที่ของรัฐ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา กรมศาสนา, 2545.
Frederick F. Reichheld. Loyalty Rules!: How Today’s Leaders Build Lasting Relationships, Harvard Business School Press, Boston, Massachusetts, 2001.
Johnson, M.D. and Gustafsson, A. Improving Customer Satisfaction, Loyalty, and Profit: AnIntegrated Measurement and Management System, Jossey-Bass, San Francisco, CA, USA., 2000.
Kotler, P. and Fox, K.F.A Strategic Marketing for Educational Institutions, Prentice-Hall, Englewood Cliffs, NJ, USA., 1995.
Velasquez G. Manuel. Business Ethics: Concepts and Cases, Fifth Edition (Upper Saddle River, New Jersey 07458: Phoenix Color Corp, 2002.